BwThai

ยินดีต้อนรับ…น้องใหม่

by ศรศักดิ์ Published on May 22nd, 2008

ห้องนี้จะเป็นห้องที่มีบทความต่างๆที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ ล้างฟิล์ม อัด-ขยายภาพ ฯลฯ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในการถ่ายภาพทุกคน

แต่ก็อยากจะเข้ามากล่าวต้อนรับและแนะนำอะไรบ้างเล็กๆน้อยๆ ก่อนที่จะเข้าไปอ่านเรื่องอื่นๆกัน…

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มจะลดปริมาณลงไป การใช้กล้องดิจิตัลมีอัตราของการขยายวงกว้างขึ้นและสดวกขึ้นจนถึงขนาดที่ว่าใครมีโทรศัพท์มือถือ ก็มีกล้องดิจิตัลใช้กันแล้วโดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังมีผู้ที่ใช้กล้องฟิล์มอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนไปใช้กล้องดิจิตัล … บางคนก็ใช้ทั้งกล้องฟิล์มและกล้องดิจิตัลควบคู่กันไป ดังนั้นจึงยังมีฟิล์มให้ใช้กันอยู่อีกนาน ฟิล์มที่ใช้ในการถ่ายภาพมีหลากหลายชนิดและขนาดด้วยกัน ขึ้นอยู่กับขนาดหรือ format ของกล้อง เช่นกล้องประเภท View Camera (large format) จะใช้ฟิล์มขนาด 4X5 นิ้ว, 5X7 และ 8X10 หรือใหญ่กว่า กล้องขนาดกลาง (medium format) ใช้ฟิล์ม 120 แต่ขนาดของกล้องที่เป็นที่นิยมใช้ทั่วไปก็คือขนาด 35 มม. (small format) ซึ่งจะเป็นกล้องประเภท SLR และ Direct Vision หรือที่เรียกกันโดยรวมทั่วไปว่า Rangefinder นั้น ฟิล์มที่ใช้กับกล้องประเภทนี้ก็คือ 135 หรือ 35 มม. … การเลือกใช้ฟิล์มจึงจะต้องเลือกตามขนาดของกล้องที่ใช้และกับประเภทของภาพที่เราถ่าย

ในระดับเริ่มต้นนี้ หากใครใช้กล้องฟิล์ม ก็คิดว่าทุกคนคงจะใช้กล้องประเภท small format จึงจะขอจำกัดการอธิบายเรื่องต่างๆไว้ในขอบเขตนี้ และถึงแม้ว่าที่นี่จะเป็น ชมรมภาพถ่ายขาวดำ แต่เราก็ไม่ได้จำกัดการใช้ฟิล์มว่าจะต้องเป็นฟิล์มขาวดำเท่านั้น แต่เราจำกัดว่าภาพที่จะนำมาโพส จะต้องเป็นภาพขาวดำอย่างเดียวเท่านั้น อีกทั้งการพูดคุย ไถ่ถามปัญหา ก็จะอยู่ภายในแวดวงของขาวดำ และขอแนะนำเพียงคร่าวๆเพื่อเป็นการเริ่มต้น หากใครสนใจที่จะต่อยอดก็เพิ่มเติมกันเข้ามาได้ แต่ก็ขอให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่สับสนเกินไปสำหรับผู้ที่จะเริ่มใหม่…และสำหรับผู้ที่กำลังจะเริ่มเข้ามาใหม่ ขอรับประกันได้เลยว่าทุกคนที่นี่ยินดีช่วยเหลือ และให้ความรู้ แต่ก็อยากจะขอแนะนำไว้ซักนิดนึงว่าหลายๆอย่างที่เราอยากรู้นั้น หากหาไม่พบในบทความที่เรามีให้ ก็สามารถที่จะใช้ google ค้นหาได้รวดเร็วกว่าที่จะรอให้มีผู้เข้ามาเห็นและตอบ นอกเสียจากว่าจะหาไม่พบจริงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อความสดวกและรวดเร็วในการแก้ปัญหาของตัวเราเองครับ

ในเรื่องของกล้องดิจิตัลนั้น ไม่ค่อยจะสันทัดเท่าไร แต่คาดว่าคงจะมีใครเข้ามาแนะนำให้รู้ว่าควรจะทำอย่างไร หรือใช้วิธีใดในการถ่ายภาพ ฯลฯ

35 mm B/W Negative Film…ฟิล์มเนกาตีฟขาวดำ
ฟิล์มขาวดำแท้ ฟิล์มประเภทนี้จะใช้ล้างและอัดขยายตามแล็ปทั่วไปไม่ได้ เพราะใช้น้ำยาต่างไปจากฟิล์มสี แม้ว่าเรายังพอที่จะสามารถหาผู้ที่ให้บริการด้านนี้ได้ แต่เราก็สามารถล้างฟิล์มและอัด-ขยายภาพด้วยตนเองได้ แต่จะต้องมีอุปกรณ์ใช้ล้างฟิล์ม อัด-ขยายภาพ น้ำยาล้างฟิล์ม ล้างภาพ และห้องมืด หากไม่มีห้องมืด มีเพียงแค่ถุงนิรภัย(ถุงดำ)ใช้ในการโหลดฟิล์มและอุปกรณ์ล้างฟิล์มกับ น้ำยาล้างฟิล์ม ก็สามารถที่จะล้างฟิล์มได้แล้วนำไปอัด-ขยายบนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ ไม่ต้องมีการปรับอะไรมากมาย นอกจากต้องการแต่งภาพ

35 mm Chromogenic Negative Film … ฟิล์มเนกาตีฟขาวดำเทียม
Chromogenic Film หรือ Dye-image Monochrome Film เป็นฟิล์มสีที่ Ilford ผลิตออกมาให้ใช้เป็นฟิล์มขาวดำเป็นเจ้าแรก โดยการผลิตเช่นเดียวกันกับฟิล์มสีทั่วไป แทนที่จะเป็นแบบฟิล์มขาว-ดำ ทั่วไป แม้เมื่อล้างออกมาแล้วฟิล์มจะเป็นขาว-ดำ แต่ฟิล์มนี้จะต้องได้รับการล้างด้วยน้ำยาล้างฟิล์มสี C-41 เพียงอย่างเดียว ใช้บริการตามแล็ปทั่วไปได้และอัด-ขยายด้วยกระดาษอัด-ขยายสี แบบเดียวกันกับภาพสีที่ถ่ายด้วยฟิล์มเนกาตีฟสี ไม่สามารถที่จะใช้น้ำยาที่ล้างฟิล์มขาวดำธรรมดา ล้างได้ แต่ก็สามารถที่จะนำเนกาตีฟที่ได้รับการล้างมาแล้วไปอัด-ขยายด้วยเครื่องอัด-ขยายภาพขาวดำ และใช้กระดาษอัด-ขยายภาพขาว-ดำได้

35 mm Color Negative Film…ฟิล์มเนกาตีฟสี
ฟิล์มประเภทนี้จะต้องล้างด้วยน้ำยาล้างฟิล์มสี C41 และอัดออกมาเป็นภาพสีด้วยกระดาษอัด-ขยายสี แม้จะทำเองได้แต่ก็่ไม่มีใครทำเอง เพราะสามารถใช้บริการตามแล็ปทั่วไปในราคาที่แสนจะประหยัดกว่าการทำเอง เพราะมันยุ่งยากทั้งในเรื่องห้องมืด น้ำยา การควบคุมอุณหภูมิ เครื่องอัด-ขยายภาพสี ความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เมื่อเราต้องการที่จะโพสภาพขึ้นไปที่ web ของชมรมฯ ก็เพียงแค่นำเนกาตีฟหรือภาพมาสแกนเพื่อใช้ในการโหลดภาพขึ้น web และปรับให้เป็นก่อนก็ใช้ได้แล้ว

35 mm Color Reversal Film…ฟิล์มสไลด์สี
ฟิล์มประเภทนี้แม้สามารถล้างด้วยตนเองได้แต่จะสะดวกกว่าและถูกกว่าเมื่อใช้บริการของแล็ปทั่วไปซึ่งใช้น้ำยา E-6 เราสามารถที่จะสแกนและปรับให้เป็นขาวดำ ได้เช่นกัน

Selecting a film speed … การเลือกใช้ความไวแสงของฟิล์ม ISO
ฟิล์มที่มีความไวต่อแสงต่ำ ถึงปานกลาง (ISO 50-100-200) ต้องการความสว่างมาก จึงควรใช้สำหรับการถ่ายนอกสถานที่ ฟิล์มที่มีความไวต่อแสงสูง (ISO 400 ขึ้นไป) สามารถใช้ถ่ายยามที่มีแสงน้อยได้

0 Comments